วันจันทร์ที่ 4 มิถุนายน พ.ศ. 2555

ทำไมต้องเรียนระบบสารสนเทศ

     
          ทำไมต้องเรียนระบบสารสนเทศ

       สารสนเทศคืออะไร คำว่า สารสนเทศ นี้ ทางวงการคอมพิวเตอร์ใช้กันมานานแล้ว ในความหมายตรงกับ คำภาษาอังกฤษว่า Information สำหรับวงการบรรณารักษ์และห้องสมุดนั้น ได้เลือกใช้คำอีกคำหนึ่ง คือ สารนิเทศ มาเป็นเวลานานแล้วเช่นกัน คำทั้งสองนี้ มีผู้นำมาใช้ ตั้งเป็นชื่อหน่วยงานต่างๆ มากจนยากเกินกว่าที่จะเปลี่ยน ให้เหลือเพียงคำเดียวเท่านั้น อาทิ สำนักงานสารนิเทศ ศูนย์สารสนเทศ ดังนั้น ต่อมาคณะกรรมการบัญญัติศัพท์คอมพิวเตอร์ ของราชบัณฑิตยสถาน ก็ได้เก็บคำทั้งสองนี้ ไว้เป็นศัพท์บัญญัติของคำว่า information ด้วยกันทั้งคู่ พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2525 [1] ให้คำอธิบายคำ สนเทศ ว่าเป็น คำสั่งข่าวสาร ใบบอก ส่วนคำว่า นิเทศ นั้น มีคำอธิบายว่า เป็นคำนามหมายถึง คำแสดง คำจำแนก หากเป็นกริยาหมายถึง ชี้แจง แสดง หรือ จำแนก ดังที่ปรากฎใน พระราชทินนามที่โปรดเกล้าฯ ตั้งให้แก่ พระธรรมนิเทศทวยหาญ ก็หมายถึง ตำแหน่งที่มีหน้าที่ชี้แจง แสดงธรรมะ แก่บรรดาทหารหาญทั้งหลาย เมื่อพิจารณาในแง่นี้ ก็อาจกล่าวได้ว่า ทั้งคำว่า สารสนเทศ และ สารนิเทศ นั้น ต่างก็อาจนำไปใช้ ในความหมายว่าเป็น information ได้ด้วยกันทั้งคู่ เพราะ information นั้นก็คือ ข่าวสาร หรือ สิ่งที่เราชี้แจง หรือ แสดงให้ผู้รับเกิดความเข้าใจ เกี่ยวกับเรื่องราว ที่เราต้องการบอกกล่าวนั่นเอง แต่ที่กลุ่ม นักวิชาการคอมพิวเตอร์ ติดใจคำว่าสารสนเทศมากกว่า อาจเป็นเพราะคำว่าสารนิเทศนั้น มีความหมายในทางสื่อสาร ดังที่คณะนิเทศศาสตร์ ของมหาวิทยาลัยต่างๆ ก็ใช้ภาษาอังกฤษว่า Communication Science มีอีกคำหนึ่งก็คือ ข้อมูล ซึ่งควรทำความกระจ่างตั้งแต่ตอนแรก คำนี้ พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน ให้คำอธิบายว่า คือ ข้อเท็จจริง หรือสิ่งที่ถือ หรือยอมรับว่าเป็นข้อเท็จจริง สำหรับใช้เป็นหลักอนุมาน หาความจริง หรือการคำนวณ ส่วนพจนานุกรม Webster's [2] ให้ความหมายว่าเป็น "factual information (as measurements or statistics) used as a basis for reasoning, discussion, or calculation" ในทัศนะทางด้านคอมพิวเตอร์นั้น เราเห็นว่า ข้อมูล คือตัวแทนของ โลกแห่งความเป็นจริง ตัวแทนที่แสดง ความเป็นคน สัตว์ สิ่งของ หรือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ยกตัวอย่างเช่น ข้อมูลบุคลากร ของหน่วยงานแห่งหนึ่งก็คือ รายละเอียดอันเป็น ข้อความ ตัวเลข และภาพ ที่เกี่ยวข้องกับบุคคล ที่เป็นพนักงานของหน่วยงานนั้น รายละเอียดนั้น จะมีมากน้อยเพียงใด ก็สุดแล้วแต่ว่า จะใช้แสดงเรื่อง ของบุคคลเหล่านั้น ได้ครบถ้วนสมบูรณ์เพียงใด เช่น ข้อมูลบุคลากร โดยทั่วไปอาจจะไม่มี เรื่องเกี่ยวกับ สีของตา สีของผม หรือตำหนิบนร่างกาย แต่ข้อมูลของ ผู้ที่ต้องการขออนุญาต มีหนังสือเดินทาง จะต้องระบุข้อมูลเหล่านี้ หรือข้อมูลเกี่ยวกับผู้ป่วย ก็อาจจะต้องมีรายการที่เกี่ยวกับ น้ำหนัก ส่วนสูง กลุ่มเลือด ความดันโลหิต ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลเรื่องอะไร หรือในด้านใด สิ่งที่สำคัญที่สุด ประการแรกก็คือ ข้อมูล สมบูรณ์ มากพอ ที่จะใช้อธิบายเรื่องนั้น ได้ครบถ้วนและ ถูกต้อง ข้อมูลโดยทั่วไปนั้นมีรายละเอียดปลีกย่อยมาก แม้ว่าข้อมูลทุกรายการ จะมีความจำเป็น แต่ถ้าหากเราให้ข้อมูล ทุกรายการแก่ผู้รับ ก็ยังอาจจะทำให้ผู้รับ เกิดความสับสนได้ง่าย ยกตัวอย่าง เช่นถ้าหากนายแพทย์ ให้ข้อมูลทุกรายการ เกี่ยวกับผู้มาตรวจสุขภาพ โดยบอกตัวเลขเช่น ความดันโลหิต ชีพจร ระดับคลอเรสเตอรัล ระดับไตรกลีเซอไรน์ ระดับน้ำตาล ฯลฯ ข้อมูลเหล่านี้ ก็อาจจะไม่มีความหมายใดๆ ต่อผู้รับมากนัก สู้บอกง่ายๆว่า "คุณมีสุขภาพแข็งแรง เป็นปกติดี" ไม่ได้ ข้อความที่นายแพทย์ แจ้งแก่ผู้มาตรวจสุขภาพ แบบนี้แหละ ที่ทางวงการคอมพิวเตอร์เรียกว่า สารสนเทศ หริอ information พิจารณาในแง่นี้ สารสนเทศ ก็คือ ผลสรุปที่ได้จาก การนำข้อมูลมาประมวล ด้วยวิธีการต่างๆ เช่น การสรุปทางสถิติ การเปรียบเทียบ การจำแนก หรือ จัดกลุ่ม ฯลฯ อย่างในกรณีของ ข้อมูลการตรวจสุขภาพนั้น สารสนเทศที่นายแพทย์ แจ้งแก่ผู้ตรวจสุขภาพนั้น ได้มาจากการที่นายแพทย์ เปรียบเทียบข้อมูลตัวเลขต่างๆ กับค่าเฉลี่ย ที่เป็นที่รู้จักกันดีแล้ว ในวงการแพทย์ หากผู้ที่ไม่ใช่นายแพทย์ ได้รับข้อมูลตัวเลขเหล่านั้นไป และผู้นั้น ไม่มีความรู้อะไรเลย เกี่ยวกับค่าเฉลี่ยเหล่านี้ ผู้นั้นก็ย่อมไม่สามารถหาข้อสรุปเป็น สารสนเทศ ที่ถูกต้องได้ จากที่กล่าวมานี้ ทางวงการคอมพิวเตอร์จึงถือว่า ระบบสารสนเทศ คือระบบจัดเก็บข้อมูล ในด้านต่างๆ เอาไว้ แล้วนำข้อมูลมาประมวล ให้เป็นสารสนเทศ เพื่อส่งให้ผู้ใช้ ระบบสารสนเทศที่รู้จักกันดีก็คือ ระบบสารสนเทศ เพื่อการจัดการ (Management Information System หรือ MIS) ระบบสารสนเทศเพื่อผู้บริหาร (Executive Information System หรือ EIS) ระบบสนับสนุนการตัดสินใจ (Decision Support System หรือ DSS) ระบบเหล่านี้นิยมพัฒนา และใช้กันมาก ในวงการบริหารจัดการ ทั้งทางภาคธุรกิจ และเอกชน สำหรับในงานวิจัยนั้น ระบบสารสนเทศ ที่ใช้กันมากนั้น ไม่ใช่ระบบที่กล่าวถึงชื่อมาแล้วข้างต้น แต่เป็นระบบที่เก็บข้อมูล ที่เกี่ยวกับ ข่าว หนังสือ วารสาร บทความวิจัย รายงานวิจัย ตลอดจนข้อมูลวิจัยอื่นๆ สำหรับให้ผู้ที่สนใจ สืบค้นหาเรื่องที่ตนต้องการทราบ ไม่ว่าจะเป็นระบบสารสนเทศ สำหรับวงการบริหารจัดการ หรือ ระบบสารสนเทศเพื่องานวิจัย ความคล้ายคลึงกัน ประการหนึ่งก็คือ ระบบทั้งสองแบบนั้น ต่างก็มีจุดมุ่งหมายเหมือนกัน คือ จัดทำสารสนเทศให้แก่ผู้ใช้ ข้อที่ควรทราบอีกประการหนึ่งก็คือ สารสนเทศ นั้น ยังไม่ใช่ผลสรุปสุดท้ายที่ตายตัว อาจเป็นไปได้ที่ หลังจากนายแพทย์ พิจารณาตัวเลข คลอเรสเตอรัลแล้ว บอกผู้มาตรวจสุขภาพว่าเป็นปกติ เพราะค่าที่วัด อยู่ภายในระดับปกตินั้น ไม่ช้าไม่นาน ผู้มาตรวจสุขภาพรายนั้น อาจมีอันเป็นไป เพราะไขมันอุดหลอดเลือดหัวใจก็ได้ หากเกิดเรื่อง เช่นนี้บ่อยครั้ง วงการแพทย์ก็อาจจะต้อง ศึกษาสารสนเทศเหล่านี้มากขึ้นๆ จนกระทั่งได้ข้อสรุปขั้นสุดท้าย เป็น ความรู้ (Knowledge) นักคิดทางด้านคอมพิวเตอร์หลายคน มองเห็นว่า ความรู้ ก็ยังไม่ใช่ที่สุด ของสิ่งที่จะได้รับจากข้อมูล ดังนั้นจึงสรุปว่า หลังจากที่มนุษย์เรา ได้รับความรู้ในด้านต่างๆ มากขึ้นๆ จนเกิดความเข้าใจแจ่มแจ้งดีแล้ว ก็จะเกิด ผลสรุปขั้นสุดท้ายเป็น ปัญญา (Wisdom )

แหล่งที่มา

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น