วันจันทร์ที่ 18 มิถุนายน พ.ศ. 2555

ระบบการผลิต

ระบบการผลิต และการจัดทำสายการผลิตให้สมดุลย์ (production system & assembly line balancing)
          ในการผลิตโดยทั่วไป จะประกอบไปด้วย 3 ส่วนด้วยกัน คือ ปัจจัยการผลิต (input) ได้แก่ คน (man) วัตถุดิบ (materials) เครื่องจักร (machines) พลังงาน (energy) เงิน (money) ข่าวสารข้อมูล (information) ส่วนกระบวนการผลิต (process) ได้แก่ การเตรียมวัตถุดิบต่าง ๆ การนำส่วนประกอบต่าง ๆ เข้าด้วยกันการสร้างรูปทรง การตกแต่ง รูปทรงตลอดทั้งการบรรจุผลิตภัณฑ์เพื่อการจำหน่าย และส่วนที่เป็นผลผลิต (output) ได้แก่ ผลิตภัณฑ์สำเร็จรูป (products) ซึ่งผลผลิตจะออกมาในรูปของสินค้าหรือบริการ ซึ่งรวมเรียกว่า ระบบการผลิต

ระบบการผลิต

          การผลิตเป็นกระบวนการที่ทำให้เกิดการสร้างสิ่งหนึ่งสิ่งใดขึ้นมาจากการใช้ทรัพยากรหรือปัจจัยการผลิตที่มีอยู่ การดำเนินการผลิตจะเป็นไปตามลำดับขั้นตอนของการกระทำก่อนหลัง กล่าวคือ จากวัตถุดิบที่มีอยู่จะถูกแปลงสภาพให้เป็นผลผลิตที่อยู่ในรูปตามต้องการ เพื่อให้การผลิตบรรลุวัตถุประสงค์ดังกล่าวนั้น จึงจำเป็นต้องมีการจัดการให้อยู่ในรูปของระบบการผลิต ซึ่งประกอบด้วยส่วนที่สำคัญ 3 ส่วน คือ ปัจจัยการผลิต (input) กระบวนการแปลงสภาพ (conversion process) และผลผลิต (output) ที่อาจเป็นสินค้า และบริการ 

          การผลิตที่มีประสิทธิภาพนั้น จะต้องคำนึงถึงปัจจัยด้านปริมาณ คุณภาพ เวลา และราคา ซึ่งทั้งหมดนี้จะต้องนำมารวมไว้ในระบบการผลิต โดยมีการวางแผนและควบคุมการผลิตเป็นแกนกลาง กิจกรรมต่าง ๆ ที่อยู่ในระบบการผลิตนั้นสามารถจำแนกได้เป็น 3 ขั้นตอน คือ การวางแผน (planning) การดำเนินงาน (operation) และการควบคุม (control)
          1. การวางแผน เป็นขั้นตอนของการวิเคราะห์ข้อมูลที่มีอยู่ และวางแผนการใช้ทรัพยากรให้ตรงตามเป้าหมายที่ต้องการ และเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ในแผนการผลิตจะกำหนดเป้าหมายย่อยไว้ในแผนกต่าง ๆ ในเทอมของเวลาที่กำหนดไว้ก่อนล่วงหน้า และจากเป้าหมายย่อย ๆ ที่ถูกกำหนดขึ้นเหล่านี้ ถ้าประสบผลสำเร็จก็จะส่งผลไปยังเป้าหมายที่ต้องการ
          2. การดำเนินงาน เป็นขั้นตอนของการดำเนินการ จะเริ่มต้นได้ก็ต่อเมื่อรายละเอียดต่าง ๆ ในขั้นตอนการวางแผนได้ถูกกำหนดไว้ในแผนการผลิตเรียบร้อยแล้ว
          3. การควบคุม เป็นขั้นตอนของการตรวจตราให้คำแนะนำและติดตามผลเกี่ยวกับการดำเนินงาน โดยใช้การป้อนกลับของข้อมูล (feed back information) ในทุก ๆ ขณะที่งานก้าวหน้าไป ผ่านกลไกการควบคุม (control mechanism) โดยที่กลไกนี้จะทำหน้าที่ปรับปรุงแผนงาน และเป้าหมายเพื่อให้เป็นที่เชื่อแน่ได้ว่าจะบรรลุเป้าหมายหลัก

ระบบการผลิตและการปฏิบัติการ
          ระบบการผลิตและการปฏิบัติการ ประกอบด้วยองค์ประกอบที่สำคัญ  5 ส่วน ซึ่งได้แก่ ปัจจัยนำเข้า (input) กระบวนการผลิตและแปลงสภาพ (production or conversion process) ผลได้ (output) ส่วนป้อนกลับ (feedback) และผลกระทบจากภายนอกที่เปลี่ยนแปลงโดยไม่ได้คาดหมาย  (random  fluctuations)

          ปัจจัยนำเข้า คือส่วนของทรัพยากรหรือสิ่งที่จำเป็นต้องใช้ในการผลิตสินค้าหรือบริการ ซึ่งโดยทั่วไปประกอบด้วย เงินทุน แรงงาน เครื่องจักร ที่ดิน วัตถุดิบ และความรู้ความสามารถในด้านการจัดการกระบวนการผลิตและแปลงสภาพ คือส่วนที่ทำหน้าที่นำเอาปัจจัยนำเข้ามาผลิต และแปลงสภาพเพื่อให้ได้เป็นสินค้าหรือบริการตามที่ต้องการ กระบวนการผลิตหรือแปลงสภาพประกอบด้วย วิธีการในการผลิตสินค้า วิธีการจัดลำดับการผลิต การวางแผนการผลิต การจัดสรรกำลังคนเพื่อการผลิต และอื่น ๆ ส่วนป้อนกลับ คือส่วนที่ใช้ในการควบคุมการทำงานของกระบวนการ เพื่อให้การทำงานของระบบการผลิตบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ ส่วนป้อนกลับนี้จะทำหน้าที่ประเมินผลได้ เช่น ปริมาณและคุณภาพของสินค้าที่ผลิตได้ นำมาเปรียบเทียบกับเป้าหมายที่วางแผนไว้ จากผลการเปรียบเทียบจะนำไปสู่การปรับปัจจัยนำเข้าหรือกระบวนการผลิตหรือแปลงสภาพ  เพื่อสร้างผลได้ตามที่ต้องการออกมา

          การเปลี่ยนแปลงที่ไม่ได้คาดหมาย ระบบการผลิตและการปฏิบัติการใด ๆ เมื่อดำเนินการอยู่อาจมีการเปลี่ยนแปลงที่ไม่ได้คาดหมายแต่มีผลกระทบต่อการดำเนินการ โดยทั่วไปการเปลี่ยนแปลงนี้จะมาจากภายนอกระบบหรือนอกองค์การ และอยู่นอกเหนืออำนาจการควบคุมของผู้บริหาร ตัวอย่างเช่น สภาพการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ อุบัติเหตุและภัยธรรมชาติ การขัดข้องเสียหายของเครื่องจักร เหล่านี้เป็นต้น

ประเภทของระบบการผลิต (division of production system)

ระบบการผลิตอุตสาหกรรม แบ่งออกเป็นระบบใหญ่ ๆ ได้ 2 ระบบ คือ

          1. ระบบการผลิตแบบช่วงตอน (intermittent production system) 
          2. ระบบการผลิตแบบต่อเนื่อง (continuous production system)

ระบบการผลิตแบบช่วงตอน (intermittent production system) 

          ระบบการผลิตแบบช่วงตอน เป็นการผลิตแบบไม่สม่ำเสมอ หรือผลิตตามคำสั่งของลูกค้า (order manufacturing) เป็นการผลิตที่วัตถุดิบไม่เลื่อนไหลไปตามสายการผลิต การผลิตจะผลิตเป็นช่วง ๆ หรือเป็นตอน  เมื่อดำเนินการผลิตครบทุกกิจกรรมการผลิต ก็จะได้ชิ้นงานหรือผลิตภัณฑ์สำเร็จรูปขึ้นมา เช่น การกลึงชิ้นงาน งานผลิตงานก่อสร้าง การผลิตโต๊ะเกาอี้ เป็นต้น การผลิตแบบช่วงตอนนี้ ระบบการผลิตเป็นไปตามความเหมาะสมของผู้ดำเนินงานการติดตั้งเครื่องจักร ก็จะติดตั้งตามกรรมวิธีการผลิต จึงเป็นผลทำให้มีความต้องการการใช้พื้นที่ในการเก็บวัสดุในการผลิตมากขึ้น ทั้งนี้เพราะการผลิตระบบนี้มีจุดพักงานหลายจุดและในการผลิตแบบนี้ผู้ผลิตจะต้องกำหนดวิธีการขนย้ายวัสดุให้เหมาะสมจึงจะทำให้การผลิตมีประสิทธิภาพและในการวางระบบการผลิตแบบช่วงตอนนี้จะก่อให้เกิดประสิทธิภาพนี้ผู้ผลิตจะต้องกำหนดแนวทางการผังโรงงาน ให้สอดคล้องกับระบบการผลิตด้วย  การวางผังโรงงานที่เหมาะสมกับระบบการผลิตแบบช่วงตอนนี้ คือ การวางผังโรงงานแบบตามกระบวนการผลิต (process layout)

ลักษณะการผลิตแบบช่วงตอน มีลักษณะดังนี้
          1. มีอุปกรณ์และกระบวนการผลิตที่ยืดหยุ่น (flexible) ได้สามารถผลิตสินค้าได้หลายแบบ
          2. ลักษณะของปัจจัยการผลิตจะเปลี่ยนแปลงไปเสมอตามลักษณะงานแต่ละชิ้น
          3. ลักษณะการผลิต จะเปลี่ยนแปลงไปเสมอตามลักษณะงานแต่ละชิ้น 
          4. การไหลหรือการเคลื่อนย้ายของงานจะไม่ติดต่อกัน มักจะมีการพักวัตถุดิบหรือรอคอยวัตถุดิบการผลิตทุกจุดปฏิบัติงาน
          5. คนงานที่ปฏิบัติงาน จะต้องมีความสามารถในระดับปานกลางไปจนถึงระดับสูง

ระบบการผลิตแบบต่อเนื่อง (continuous production system)
          ระบบการผลิตแบบต่อเนื่อง เป็นระบบที่มีการไหลของวัตถุดิบต่อเนื่องตามสายการผลิต (line production) เช่น โรงพิมพ์ พิมพ์หนังสือ โรงงานผลิตอาหารกระป๋อง การผลิตแก้วของโรงงานผลิตแก้ว  บุหรี่ ไม้อัด น้ำตาล เป็นต้น  ลักษณะที่ดีของระบบการผลิตต่อเนื่องก็คือใช้พื้นที่ในโรงงานได้ประโยชน์คุ้มค่าเต็มประสิทธิภาพ เพราะพื้นที่ส่วนใหญ่ใช้เป็นพื้นที่ในกระบวนการผลิตของสายการผลิตเหลือพื้นที่ในการเก็บวุตถุดิบเล็กน้อย และการขนย้ายวัตถุดิบในสายการผลิต ก็จะใช้การขนย้ายแบบตายตัว เช่น ใช้สายพาน (conveyers) ขนย้ายวัตถุดิบในโรงงานอุตสาหกรรมต่าง ๆ ในระบบการผลิตแบบต่อเนื่อง ผู้ผลิตจะต้องวางผังโรงงานให้สอดคล้องกับระบบการผลิต ผังของโรงงานอุตสาหกรรมที่สอดคล้องกับระบบการผลิตแบบต่อเนื่องที่ใช้กันมากก็คือ การวางผังโรงงานแบบชนิดของผลิตภัณฑ์ (product layout)

ลักษณะการผลิตแบบต่อเนื่อง มีลักษณะการผลิตดังนี้
          1. มีอุปกรณ์และกระบวนการผลิตมาตรฐาน
          2. ลักษณะของปัจจัยการผลิต จะมีมาตรฐานแน่นอนไม่เปลี่ยนแปลงชนิดหรือส่วนประกอบ
          3. ลำดับการผลิตแน่นอน
          4. การไหลหรือการเคลื่อนย้ายของงานมักจะใช้สายพาน (conveyor belts)
          5. การป้อนงานเข้าหน่วยผลิตแต่ละหน่วย จะใช้กฎเกณฑ์ตามลำดับมาก่อนเข้าก่อน
          6. ผลิตสินค้ามาตรฐานได้ทีละมาก ๆ (mass production)

ในส่วนนี้ได้กล่าวถึง ในส่วนกระบวนการผลิต หรือการแปรสภาพของวัตถุดิบที่นำเข้าสู่กระบวนการผลิต จนออกมาเป็นผลิตภัณฑ์ ซึ่งในลักษณะของการแปรสภาพวัตถุดิบนั้นมีด้วยกัน 3 ลักษณะ ดังนี้ (มณเฑียร  ประจวบดี, 2530 หน้า 29)

          ลักษณะที่ 1 การแปรสภาพการผลิตแบบต่อเนื่องตลอดการผลิต หรือแบบอนุกรม (series sub-system)
          ลักษณะที่ 2 การแปรสภาพการผลิตแบบขนาน (parallel sub-system)
          ลักษณะที่ 3 การแปรสภาพการผลิตแบบผสม (integrate sub-system)

การแปรสภาพการผลิตแบบต่อเนื่องตลอดการผลิต (series sub-system)
          การผลิตแบบระบบการผลิตอย่างต่อเนื่อง หรือการผลิตแบบอนุกรมนี้ จะพบเห็นในระบบการผลิตที่เป็นสายการผลิตสายเดียว (line production) หรือบางที เรียกว่า เป็นการผลิตแบบสายการผลิต ที่เป็นสายการผลิตสายเดียวจากวัตถุดิบผ่านกระบวนการผลิต ขั้นที่ 1 ขั้นที่ 2 ข้นที่ 3 ไปจนถึงขั้นสุดท้าย ออกมาเป็นสินค้าสำเร็จรูป ดังลักษณะการแปรสภาพการผลิต

ระบบการแปรสภาพการผลิตแบบคู่ขนาน (parallel system)
          ระบบการผลิตแบบขนานก็คือการผลิตแบบต่อเนื่องอย่างหนึ่งที่สายการผลิตมากกว่าหนึ่งสาย และก่อนจะอกมาเป็นผลิตภัณฑ์สำเร็จรูป ก็จะนำผลผลิตของแต่ละสายมาประกอบกันในกระบวนการและออกมาเป็นผลิตภัณฑ์สำเร็จรูป

ระบบการแปรสภาพการผลิตแบบผสม (integrate sub-system)
          เป็นการผลิตที่มีความซับซ้อนมากกว่า ลักษณะการผลิตทั้งสองแบบที่กล่าวมาคือ การผลิตแบบนี้เป็นการนำเอากระบวนการผลิตแบบอนุกรมและการผลิตแบบขนานมาใช้ในกระบวนการผลิต บางช่วงอาจจะเป็นการผลิตแบบขนานที่สายการผลิตมากกว่าหนึ่งสาย วัตถุดิบหรือสินค้าออกจากสายการผลิตแต่ละสายจะถูกนำมาประกอบเข้ากันและนำเข้าสู่กระบวนการผลิตอีก 2 ขั้นตอน 3 ขั้นตอนหรือมากกว่านี้แบบอนุกรมต่อเนื่องกันไป จนกว่าจะสำเร็จเป็นสินค้าสำเร็จรูปออกมา 

การทำสายการผลิตให้สมดุลย์ (assembly line balancing)
          ในระบบการผลิต หรือ การแปรสภาพการผลิต จะเกี่ยวข้องกับการแบ่งเวลาในการผลิตสินค้าในแต่ละขั้นตอนว่าจะใช้เวลากี่ชั่วโมง ในการผลิตสินค้า 1 จุด หรือจะใช้เวลากี่นาทีในการผลิตสินค้าที่ผ่านสายพาน (conveyor) และในการผลิตนั้นจะต้องคำนึงถึงด้านแรงงานด้วยว่า จะเกิดความเมื่อยล้าในขั้นตอนการผลิตที่กระทำซ้ำ ๆ ทำให้ผลผลิตที่ได้ไม่ได้คุณภาพ

          โดยทั่วไปในการผลิตสินค้าแต่ละจุดผลิต จะต้องวิเคราะห์ลักษณะงาน (job analysis) ว่าในการผลิตสินค้า ณ จุดนั้น ใช้เวลาเท่าไร เช่น การเชื่อมโลหะประกอบชิ้นงานอย่างหนึ่งใช้เวลา 20 นาที การประกอบหรือการผลิตชิ้นงานบางอย่างอาจจะใช้เวลาน้อย เช่น ถอดล้อรถยนต์ ด้วยเครื่องถอดไฟฟ้า ใช้เวลา 0.20 นาที การใส่ที่ปัดน้ำฝน ใช้เวลา 3 นาที เป็นต้น ในการทำสายการผลิตให้สมดุลย์นี้ก็เพื่อลดเวลาที่สูญเปล่า (idle time) ในสายการผลิต และจะเป็นการใช้ประโยชน์จากแรงงานและเครื่องมือให้เกิดประโยชน์สูงสุดด้วย (วิจิตรา ประเสร็จธรรม, 2534 หน้า 152)

การทำสายการผลิตให้สมดุลย์ (assembly line balancing)

          การวางผังผลิตภัณฑ์จะเกี่ยวข้องกับการแบ่งเวลาในการผลิตสินค้าในแต่ละขั้นตอนว่าจะใช้เวลากี่นาที หรือกี่นาที โดยเฉพาะสินค้าที่ผ่านสายพาน (conveyor) การผลิตและคำนึงถึงด้านแรงงานด้วยว่าจะเกิดความเมื่อยล้าในขั้นตอนการผลิตสินค้าที่กระทำชำ ๆ ทำให้ผลผลิตที่ได้ไม่ดี  ไม่มีการคำนึงถึงคุณภาพสินค้าเพราะเป็นการผลิตจำนวนมาก ดังนั้นจึงต้องมีการทำสายการผลิตให้สมดุลย์ (line balancing) คือเป็นกระบวนการตัดสินใจมอบหมายงานในแต่ละจุดให้เกิดความเหมาะสมโดยในแต่ละจุดที่สินค้าเคลื่อนไปตามสายพานการผลิต วิศวกรจะวิเคราะห์ลักษณะงาน (job analysis) ดูว่า ในการผลิตสินค้า ณ จุดนั้นจำเป็นจะต้องใช้เวลากี่วินาที หรือกี่นาที งาน ณ จุดนั้นจึงจะสำเร็จ เช่นในการพับกล่องให้อยู่ในรูปที่พร้อมจะใส่สินค้า อาจใช้เวลาเพียงกล่องละ 5 วินาทีเป็นอย่างมากที่สุด 

          แต่ในการผลิตรถยนต์แต่ละขั้นตอนการผลิตอาจใช้เวลาไม่เท่ากันเช่นการใส่เครื่องยนต์ในตัวถังอาจใช้เวลาถึง 10 นาทีต่อเครื่อง ส่วนการใส่ที่ปัดน้ำฝนใช้เวลาเพียง 3 วินาที จุดมุ่งหมายของการทำสายการผลิตให้สมดุลย์นี้ก็เพื่อจับกลุ่มงานเข้าด้วยกัน และคำนึงถึงเวลาที่ต้องใช้ ณ จุดนั้น จะเป็นการลดเวลาที่สูญเปล่า (idle time) ในสายการผลิตลงได้ และจะเป็นการใช้ประโยชน์จากแรงงานและเครื่องมือให้เกิดประโยชน์สูงสุดด้วยเวลาที่เปล่าประโยชน์นี้จะเกิดขึ้นในกรณีที่แรงงานมีกำลังการผลิตที่ต่างกัน ทำให้จุดงานที่ใช้เวลาในการผลิตมากกว่า การทำสานการผลิตให้สมดุลย์นี้จะมีอุปสรรคในกรณีที่เราไม่สามารถจะรวม กิจกรรมการผลิตในขั้นตอนต่าง ๆ ไว้ด้วยกันได้ เพราะว่าในการผลิตแต่ละขั้นตอนจะใช้เครื่องมือหรืออุปกรณ์ที่แตกต่างกัน และระยะเวลาการผลิตในแต่ละขั้นตอนก็ใช้เวลาต่างกัน อีกทั้งเทคโนโลยีที่ใช้ก็ต่างกันด้วย 

ผลิตเป็นจุดทำงานของงานหนึ่งหรือหลาย ๆ งานก็ได้ แต่เวลาที่ใช้ที่จุดผลิตนั้นจะต้องไม่เกินเวลาสูงสุด (cycle time) ที่คำนวณได้ และจำนวนจุดผลิตที่ได้มาจากการคำนวณนี้จะเป็นจำนวนจุดผลิตอย่างน้อยที่สุดที่ควรจะมี  และจะทำให้งานสำเร็จลุล่วงไปได้ ในการคำนวณหาจุดผลิต จะแบ่งออกเป็น 2 แบบคือ
          1. การหาจำนวนจุดผลิตในกรณีที่ทราบจำนวนผลผลิตที่ต้องการ
          2. การหาจำนวนจุดผลติในกรณีที่ไม่ทราบถึงจำนวนผลผลิต

การจัดสรรงานสู่จุดผลิต
เมื่อทราบว่าควรมีจุดผลิตอย่างต่ำกี่จุดผลิตแล้ว ในการจัดสรรงานสู่จุดผลิตควรคำนึงถึง
           1. จัดสรรงานที่ใช้เวลามากที่สุด ไปยังจุดผลิตก่อน
           2. คำนึงถึงลำดับการเกิดของงานด้วย

           จุดประสงค์ของการทำสายการผลิตให้สมดุลย์ คือ ลดเวลาที่สูญเปล่า (idle time) มีน้อยที่สุด เวลาสูญเปล่า ณ จุดผลิตหนึ่ง จะหมายถึงเวลาที่เหลือหลังจากที่ทำงานต่าง ๆ เสร็จไปแล้ว เวลาที่สูญเปล่าของแต่ละจุดผลิต เป็นเวลาที่เหลือเมื่อทำงานที่จุดนั้นใช้เวลาหมดไปแล้ว

แนวความคิดแบบ Heuristic

           ยังมีแนวความคิดอีกแบบที่จะช่วยลดจำนวนทางเลือกว่าจะให้มีจุดผลิตเป็นจำนวนเท่าใด คือแนวความคิดแบบ Heuristic แต่มิใช่ว่าจะให้ผลลัพธ์ที่ดีที่สุด กฎของ Heuristic ที่ปฏิบัติกันมีหลักเกณฑ์ดังนี้

           1. ให้มอบหมายงานไปยังจุดผลิต โดยมอบหมายงานตามลำดับก่อนหลัง 
           2. เครื่องหมายลูกศรจะไม่ตัดกัน และจะไม่เป็นในลักษณะย้อนกลับ แต่จะเดินหน้าไปเสมอ           
           3. เครื่องหมายลูกศรจะพางานให้ไปสู่งานสุดท้าย โดยไม่มีการขาดตอน

สรุป

           ระบบการผลิตโดยทั่วไปจะประกอบด้วย องค์ประกอบ 3 องค์ประกอบ คือ (1) ปัจจัยการผลิต (input) ซึ่งได้แก่ คน วัตถุดิบ เครื่องมือ เครื่องจักร หลังงานและอื่น ๆ (2) กระบวนการผลิต (process) คือการนำวัตถุดิบมาเปลี่ยนรูปเป็นผลิตภัณฑ์ เช่น การประกอบรถยนต์ การขึ้นรูปผลิตภัณฑ์ การตกแต่ง เป็นต้น ก่อนที่จะออกมาเป็นผลิตภัณฑ์สำเร็จรูป ถือว่าเป็นกระบวนการผลิตทั้งหมด และ (3) ผลผลิต (output) ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ที่ผ่านกระบวนการผลิตขั้นสุดท้ายและออกมาเป็นผลิตภัณฑ์สำเร็จรูปที่เตรียมจำหน่าย เมื่อจะมีการผลิตสินค้าใดสินค้าหนึ่ง ผู้ผลิตก็จะนำองค์ประกอบของระบบการผลิตมาเข้าสู่ระบบการผลิต ซึ่งระบบการผลิตมีด้วยกัน 2 ระบบ คือ

           1. ระบบการผลิตแบบช่วงตอน (intermittent production system) เป็นการผลิตที่ไม่เป็นไปตามสายการผลิตเมื่อมีการดำเนินการผลิตชิ้นส่วนครบทุกชิ้นส่วน  ก็จะนำมาประกอบกันเป็นสินค้า
           2. ระบบการผลิตแบบต่อเนื่อง (continuous production system) เป็นระบบที่มีการจัดระบบการผลิตไว้อย่างเป็นระบบการผลิตไว้อย่างเป็นระบบมีการผลิตตามขั้นตอนการผลิต และจัดแผนการผลิตไว้เป็นลำดับ ตั้งแต่เริ่มต้น จนสิ้นสุดสำเร็จออกมาเป็นสินค้าสำเร็จรูป (products) ในการที่ดำเนินกิจกรรมการผลิต ตั้งแต่เริ่มจนสำเร็จออกมาเป็นสินค้าสำเร็จรูปนั้น ถือว่าเป็นระบบการแปรสภาพวัตถุดิบในกระบวนการผลิตให้ออกมาเป็นสินค้าและบริการ เพื่อตอบสนองความต้องการมนุษย์ ซึ่งมีด้วยกัน 3 ลักษณะ คือ
                        2.1 การแปรสภาพการผลิตแบบต่อเนื่อง
                        2.2 การแปรสภาพการผลิตแบบขนาน
                        2.3 การแปรสภาพการผลิตแบบผสม

           การแปรสภาพการผลิตแบบต่อเนื่อง เป็นการผลิตที่มีสายการผลิตสายเดียว จากวัตถุดิบผ่านเข้าสู่กระบวนการผลิตขั้นที่ 1 ขั้นที่ 2 ขั้นที่ 3 ไปจนสิ้นสุดกระบวนการผลิตขั้นสุดท้าย ก็จะสำเร็จออกมาเป็นสินค้าสำเร็จรูปการแปรสภาพการผลิตแบบขนาน เป็นการแปรสภาพการผลิตแบบต่อเนื่องอย่างหนึ่ง แต่มีสายการผลิตมากกว่าหนึ่งสาย และก่อนที่จะสำเร็จออกมาเป็นสินค้าสำเร็จรูปนั้น ก็จะนำวัตถุดิบของแต่ละสายการผลิตมาประกอบกันเป็นสินค้าสำเร็จรูปการแปรสภาพแบบผสม เป็นการผลิตที่ใช้ทั้งระบบการผลิตแบบอนุกรม และแบบขนานในการผลิตสินค้า โดยในบางช่วงของการผลิตจะใช้การผลิตแบบต่อเนื่องกันไป และในบางช่วงของการผลิตก็อาจจะผลิตแบบขนาน หรือสายการผลิตหลากหลายผลิต แล้วนำมาประกอบกันทีหลังก่อนสำเร็จเป็นสินค้าสำเร็จรูป
           3. การจัดทำสายการผลิตให้สมดุลย์ (assembly line balancing) จุดมุ่งหมายของการทำสายการผลิตให้สมดุลย์เพื่อจับกลุ่มงานเข้าด้วยกัน และคำนึงถึงเวลาที่ต้องใช้ ณ จุดนั้น ๆ จะเป็นการลดเวลาที่สูญเปล่า (idle time) ในสายการผลิตลงได้ และจะเป็นการใช้ประโยชน์จากแรงงาน และเครื่องมือให้เกิดประโยชน์สูงสุด การทำสายการผลิตให้สมดุลย์นี้จะมีอุปสรรคในกรณีที่เราไม่สามารถจะรวมกิจกรรมการผลิตในขั้นตอนต่าง ๆ ไว้ด้วยกัน เพราะว่าในการผลิตแต่ละขั้นตอนจะใช้เครื่องมือ หรืออุปกรณ์ที่แตกต่างกัน และระยะเวลาการผลิตในแต่ละขั้นตอนก็ใช้เวลาต่างกัน อีกทั้งเทคโนโลยีที่ใช้ก็ต่างกันด้วย

แหล่งที่มา

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น