วันพฤหัสบดีที่ 27 กันยายน พ.ศ. 2555

จริยะธรรม

ในยุคที่พลังงานมีราคาแพง สภาพแวดล้อมเป็นพิษ การกำจัดขยะทำได้ยากขึ้นและบทบาทของพลาสติกเข้ามาแทนที่ในชีวิตประจำวัน ทำให้ผู้บริโภคคำนึงถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมและเกิดกระแสสำนึกต่อสภาพแวดล้อม เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทำให้นักการตลาดทั้งหลายต่างต้องแสวงหาโอกาสทางการตลาดเพื่อความเป็นผู้นำ สร้างนวัตกรรม ความแตกต่างทางการแข่งขัน
     นอกจากนั้นยังต้องมองหาเครื่องมือทางการตลาดที่คืนกำไรให้กับสังคม และสิ่งแวดล้อม ซึ่งเรียกว่าการตลาดเพื่อสิ่งแวดล้อม (Green Marketing) แนวคิดนี้ ทำให้ผู้บริโภคคำนึงถึงต้นทุนของ "คุณค่า" ในการเลือกใช้สินค้าที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อมและธุรกิจต้องรับผิดชอบต่อสังคม ในการผลิตผลิตภัณฑ์ที่ไม่เป็นอันตรายต่อผู้บริโภคและสภาพแวดล้อม การดำเนินงานทางการตลาดจึงต้องใช้ทรัพยากรอย่างประหยัดและมีประสิทธิภาพ อย่างจริงจังมากขึ้น รวมทั้งยังต้องส่งเสริมสร้างสรรค์ให้เกิดผลดีต่อสังคมโดยรวมยิ่งๆ ขึ้นไป
กลยุทธ์ Green Marketing มีหลักคิดอยู่ 7 ประการ
1.               ธุรกิจต้องทำการบ้านในเรื่องของสิ่งแวดล้อมใหม่ทั้งด้านข้อกฎหมาย การเมือง เทคโนโลยี สังคม วัฒนธรรม            เรียกอีกอย่างว่าคำนึงถึงผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่เกี่ยวข้องกับองค์กร (Stakeholders)
  2. การผลิตสินค้าต้องให้ได้คุณภาพทั้งตัวสินค้าและการขจัดสิ่งแวดล้อม
     3. ให้ทางเลือกแก่ประชาชนผู้บริโภคในการที่จะได้รับคุณค่าและคุณประโยชน์
     4. สร้างความน่าเชื่อถือทางการตลาด
     5. ดึงสมาคมชมรมสิ่งแวดล้อมมาร่วมมือกันพัฒนาและรับประกันคุณภาพ
     6. ทำการประชาสัมพันธ์สร้างความเข้าใจอันดีกับสังคมว่าธุรกิจมีการรักษา สิ่งแวดล้อม ซึ่งจะทำให้คุณค่าของบริษัทและสินค้าดีขึ้น
7. อย่าเบื่อจนกว่าจะทำให้ "โลกสะอาด"

กรีนมาร์เก็ตติ้งกับส่วนประสมทางการตลาด
     แนวคิดกรีนมาร์เก็ตติ้งสามารถนำส่วนประสมทางการตลาด (Marketing Mix) คือ ผลิตภัณฑ์ Product) ราคา (Price) การจัดจำหน่าย (Place) และการส่งเสริมการตลาด (Promotion) มาใช้เป็นเทคนิคทางการตลาดได้

      ในด้านผลิตภัณฑ์ (Product) ต้องเริ่มตั้งแต่การผลิตสินค้า คือ การใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่หรือการลงทุนเพิ่มเพื่อปรับให้กระบวนการผลิตสินค้าในทุกขั้นตอนทุกกระบวนการ ที่จะไม่สร้างผลเสียต่อสิ่งแวดล้อม หรือติดตั้งอุปกรณ์ในการป้องกันและขจัดของเสียที่เกิดจากการผลิต เช่น การติดตั้งและใช้งานเครื่องกรองอากาศขนาดใหญ่ เครื่องบำบัดน้ำเสีย    ซึ่งนอกจากจะช่วยให้ธุรกิจลดต้นทุนแล้ว ยังจะลดของเสีย เกิดประสิทธิภาพในการผลิตสินค้า    
     การผลิตสินค้าต้องเป็น สินค้าสีเขียวหมายถึง สินค้าที่ผลิตออกมานั้นสามารถย่อยสลายง่ายและไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม ตั้งแต่การใช้ หลังใช้ หรือทิ้ง เช่น ถุงพลาสติกที่ย่อยสลายได้ ผลิตภัณฑ์ซักล้างที่ไม่ก่อมลพิษ เสื้อผ้าไม่ฟอกย้อม น้ำมันไร้สารตะกั่ว ตู้เย็น-เครื่องปรับอากาศประหยัดไฟฟ้า
     ทางด้านราคา (Price) การตั้งราคาขึ้นอยู่กับว่ามูลค่าของสินค้าหรือบริการ ถ้ามีอรรถประโยชน์สูงจนทำให้สินค้ามีคุณค่าในสายตาของลูกค้าและต้องสูงเกินกว่าต้นทุนของผู้ซื้อ  อย่างไรก็ดี นักการตลาดต้องเข้าใจต้นทุนการผลิตกับต้นทุนสิ่งแวดล้อม หากมีการใช้ทรัพยากรและพลังงานอย่างไม่มีประสิทธิภาพก็จะก่อให้เกิดของเสียและมลพิษ ซึ่งจะกลายเป็นการเพิ่มต้นทุนการผลิตที่เกิดจากการใช้วัตถุดิบ อันจะทำให้สินค้ามีราคาแพงจนไม่สามารถแข่งขันในตลาดได้      
     การจัดจำหน่าย (Place)
ต้องคำนึงถึงวิธีการเลือกการกระจายสินค้าที่จะมีผลกระทบกับสิ่งแวดล้อมให้น้อยที่สุด    ซึ่งการจัดจำหน่ายนั้นต้องใช้ยานพาหนะต่างๆ ในการเคลื่อนย้ายสินค้าไปถึงมือผู้บริโภค        
     การส่งเสริมการตลาด (Promotion) ที่ประกอบไปด้วยการโฆษณา (Advertising) การประชาสัมพันธ์ (Public relation) การส่งเสริมการขาย (Sales promotion) การขายโดยใช้พนักงานขาย (Personal selling) และการตลาดทางตรง (Direct marketing) โดยใช้ทุกวิธีร่วมกันในการที่จะเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารไปยังผู้บริโภค และผู้ประกอบการด้วยกันให้เกิดความใส่ใจอย่างจริงจัง กับสิ่งแวดล้อม เพื่อก่อให้เกิดความเข้าใจ ความรู้สึกและพฤติกรรมต่อสิ่งแวดล้อม

ลักษณะของการตลาดเพื่อสิ่งแวดล้อมมีลักษณะดังนี้
     1. แสวงหากำไรอย่างยั่งยืน ไม่ใช่แสวงหากำไรสูงสุด (Sustainable profit not maximized profit)

     2. เป็นการแข่งขันกันแบบเกื้อกูลและเอื้ออาทรต่อกัน    ไม่ใช่แข่งเพื่อเอาชนะหรือทำลายคู่แข่งให้หมดสภาพ

     3. ทำเพื่อประโยชน์ของลูกค้าและสังคม ไม่ใช่เพื่อลูกค้าเพียงอย่างเดียว (Customer and Social Benefit not only Customer) เพราะนอกจากธุรกิจจะต้องเสียภาษีแล้ว ยังจะต้องจัดสรรงบประมาณจำนวนหนึ่งเพื่อช่วยเหลือสิ่งแวดล้อมและสังคมทุกปี เช่น จัดตั้งมูลนิธิที่เกี่ยวกับ สิ่งแวดล้อม

    4. ส่งเสริมให้ความรู้มิใช่เพื่อการขายเพียงอย่างเดียว หากลูกค้าไม่มีความเข้าใจในผลิตภัณฑ์ทำให้เกิดปัญหาเปลี่ยนสินค้า หรือไม่ได้นำไปใช้ต่อ ก็เท่ากับเป็นการผลาญทรัพยากรธรรมชาติ ไม่ก่อให้เกิดอรรถประโยชน์สูงสุด


ตัวอย่างการดำเนินงานทางธุรกิจอย่างมีจริยธรรมที่สำคัญ 10 ประการ เช่น

          1. ไม่เบียดเบียนลูกค้า ได้แก่ ไม่ปลอมปนสินค้าหรือไม่ส่งสินค้าที่มาตรฐานต่ำกว่าที่ได้ตกลงกันไว้ ไม่กักตุนสินค้าเพื่อขึ้นราคา ไม่ค้ากำไรเกินควร เป็นต้น
          2. ไม่เบียดเบียนผู้จัดส่งวัตถุดิบ ผู้จัดส่งวัตถุดิบ มีชื่อเรียกอีกหลายอย่าง เช่น ซัพพลายเออร์ (supplier) เวนเดอร์ (vender) เป็นต้น การไม่เบียดเบียน ได้แก่ การไม่กดราคาซื้อให้ต่ำลงมากเกินไป การไม่ยืดระยะเวลาชำระหนี้ออกไปมากเกินควร การปิดบังข้อมูลบางอย่าง การไม่ตำหนิวัตถุดิบหรือการไม่สร้างหลักฐานเท็จเพื่อเรียกร้องให้ผู้จัดส่งวัตถุดิบชดใช้ค่าเสียหาย เป็นต้น 
          3. ไม่เบียดเบียนพนักงาน ได้แก่ การจ่ายค่าแรงให้อย่างเป็นธรรม ถูกต้องตามกฎหมาย ตรงต่อเวลา การใช้แรงงานอย่างไม่กดขี่ ทารุณ การจัดสวัสดิการและสภาพแวดล้อมในการทำงานให้เหมาะสม การจัดหาอุปกรณ์ในการทำงานให้ตามสมควรไม่ต้องให้พนักงานไปซื้อหามาเองโดยไม่จำเป็น การไม่เก็บเงินค่าประกันต่าง ๆ จากพนักงานโดยไม่จำเป็น การจ่ายค่าล่วงเวลาให้เมื่อมีการทำงานล่วงเวลาอย่างถูกต้อง เป็นต้น
          4. ไม่เบียดเบียนผู้ถือหุ้น ได้แก่การไม่สร้างหลักฐานเท็จหรือไม่สร้างข้อมูลให้ผู้ถือหุ้นหลงผิดในการซื้อหุ้นเพิ่มทุน การจ่ายเงินปันผลให้ตามสมควร การไม่ปิดบังข้อมูลที่แท้จริง การไม่เอาส่วนเกินมูลค่าหุ้นไปฝากธนาคารไว้กินดอกเบี้ยเฉย ๆ โดยไม่นำไปลงทุนตามที่ได้สัญญาไว้ การไม่นำเงินลงทุนไปใช้ผิดประเภท การตั้งใจบริหารบริษัทให้เต็มความสามารถ การไม่ปั่นหุ้นให้มีราคาสูง เป็นต้น
          5. ไม่เบียดเบียนผู้ร่วมงาน ได้แก่ การไม่ปิดบังข้อมูลที่ผู้ร่วมงานหรือบริษัทร่วมทุนควรจะได้รับรู้ การบริหารงานอย่างซื่อสัตย์ตรงไปตรงมา การไม่ทุจริตคอรัปชั่น การไม่เอาเปรียบกินแรงผู้ร่วมงาน เป็นต้น
          6. ไม่เบียดเบียนผู้ให้กู้ยืม ได้แก่ การไม่นำเงินที่กู้ยืมไปใช้ผิดข้อตกลง การไม่ยืดระยะเวลาชำระหนี้โดยไม่มีเหตุอันควร การไม่สร้างหลักฐานเท็จเพื่อหลอกลวงผู้ให้กู้ยืม เป็นต้น
          7. ไม่เบียดเบียนคู่แข่ง ได้แก่ การไม่ปล่อยข่าวลือหรือไม่สร้างหลักฐานที่เป็นเท็จทำให้คู่แข่งเสียหาย การไม่ปลอมสินค้าคู่แข่ง การไม่ติดสินบนเพื่อแย่งลูกค้าจากคู่แข่ง การปฏิบัติตามข้อตกลงหรือพันธะผูกพันอย่างเคร่งครัด การไม่นอกลู่นอกทางหรือปฏิบัตินอกกติกา เป็นต้น 
          8. ไม่เบียดเบียนราชการ ได้แก่ การไม่ติดสินบนข้าราชการเพื่อหลีกเลี่ยงกฎหมาย การจ่ายภาษีถูกต้องตรงความเป็นจริง ไม่มีการทำบัญชี 2-3 ชุด ไม่หลีกเลี่ยงภาษีโดยวิธีการอาศัยช่องว่างของกฎหมาย การไม่สร้างหลักฐานเท็จเพื่อหลอกลวงทางการ เป็นต้น
          9. ไม่เบียดเบียนสังคม ได้แก่ การไม่โฆษณาหลอกลวงหรือไม่โฆษณาเกินจริงหรือไม่โฆษณาให้หลงผิด การไม่ฉวยโอกาสขายของแพง การไม่ผลิตสินค้าหรือบริการที่ต่ำกว่ามาตรฐานที่ได้กำหนดไว้ เป็นต้น
        10. การไม่เบียดเบียนสิ่งแวดล้อม ได้แก่ การไม่ก่อให้เกิดมลภาวะ ไม่ทำให้น้ำเสีย ไม่ทำให้อากาศเป็นพิษ การจัดให้มีระบบการจัดการกับของเสียหรือสิ่งที่ก่อให้เกิดมลพิษ เช่น จัดให้มีการจัดการกับกากอุตสาหกรรมที่เป็นพิษอย่างถูกต้องตามกฎหมายเป็นต้น 

ข้อควรพิจารณาเกี่ยวกับจริยธรรมทางธุรกิจ   
          เมื่อเกิดความเสียหายในธุรกิจสิ่งที่สังคมแสวงหาคือความรับผิดชอบต่อสังคมและจริยธรรมในการประกอบธุรกิจ เรื่องจริยธรรมเป็นเรื่องของรูปแบบของการตีความว่า พฤติกรรมใดผิดและพฤติกรรมใดถูกสิ่งใดควรทำหรือไม่ควรทำ จริยธรรมเกี่ยวข้องกับมนุษย์ในทุกสถาบัน มักมีการพูดถึงว่าเราควรมีจริยธรรมในการดำเนินธุรกิจ พฤติกรรมดังกล่าวอาทิ การป้องกันไม่ให้ข่าวสารรั่วไหลออกเพื่อผลประโยชน์ในการซื้อขายหลักทรัพย์แก่เพื่อนฝูงที่ใกล้ชิดหรือการไม่ใช้โฆษณาหลอกลวงแก่ผู้บริโภค หรือการไม่รวมกลุ่มธุรกิจเพียงเพื่อต้องการจะขึ้นราคาสินค้าเท่านั้น สิ่งเหล่านี้ควรจะเลิกไปเสีย เพราะเป็นพฤติกรรมที่ผิดจริยธรรมในการดำเนินธุรกิจ 

การพิจารณาสิ่งที่ควรทำและไม่ผิดจริยธรรมนั้นสามารถพิจารณาได้ใน 3 ประเด็นคือ
          1. เรื่องต้นทุนและผลประโยชน์ ผู้บริหารจะต้องเปรียบเทียบว่าสิ่งที่ตนตัดสินใจปฏิบัติลงไปนั้นจะเกิดต้นทุน (cost) กับผลประโยชน์รับ (benefit) อย่างไร โดยใช้หลักการผลประโยชน์ต้องมากกว่าต้นทุนที่ลงไป และผลประโยชน์ที่ว่านี้ มิใช่มองแต่ผลกำไรที่จะเข้ามาเท่านั้น แต่ต้องรวมถึงผลประโยชน์ที่จะตกอยู่กับกลุ่มคนที่เราเกี่ยวข้องด้วย เช่น ผู้บริโภคจะมีความเป็นอยู่ที่ดีหรือไม่ สุขภาพอนามัยและประโยชน์ที่ได้รับจากสินค้าหรือบริการดีหรือไม่ เหล่านี้หมายถึงผลตอบแทนที่ถูกจริยธรรมและเป็นสิ่งที่ต้องพิจารณาหากคำตอบเป็นไปในทางบวก คือ นอกจากผลตอบแทนที่เราจะได้แล้ว ผลประโยชน์ต้องตกอยู่กับคนทั่วไป และมีมากกว่าต้นทุนที่ได้ลงไป สิ่งเหล่านี้ถือได้ว่าเป็นสิ่งที่ดีหรือเป็นจริยธรรมที่นักธุรกิจต้องคำนึงถึง 
          2. ต้องไม่ขัดกับสิทธิมนุษยชน การพิจารณาว่าสิ่งที่ทำเป็นพฤติกรรมที่มีความถูกต้องทางจริยธรรมหรือไม่ ต้องดูว่าสิ่งนั้นขัดกับสิทธิมนุษยชน (human right) หรือไม่ อาทิ การกระทำดังกล่าวไปจำกัดสิทธิและเสรีภาพขั้นพื้นฐานของมนุษย์ เช่น การแสดงออก สิทธิในการรับรู้ข้อมูลข่าวสาร สิทธิในการเลือกตั้งหรือการดำเนินชีวิตอย่างอิสระ สิทธิในการแสดงความคิดเห็นที่ไม่ขัดต่อกฎหมาย สิทธิส่วนบุคคล ตลอดจนรวมถึงเกียรติยศและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ในขณะเดียวกัน หากยังคลุมเครือหรือไม่อาจตัดสินได้อย่างชัดเจน นั่นหมายถึงว่า การกระทำของเรายังคาบเกี่ยวกับปัญหาการขาดจริยธรรมเช่นเดียวกัน 
          3. ความเสมอภาคและยุติธรรม สิ่งที่กระทำจะต้องมีความยุติธรรมและมีความถูกต้อง มีการกระทำอย่างเสมอภาค โดยเฉพาะในเรื่องจัดสรรผลประโยชน์ต่าง ๆ ไปยังบุคคลหรือกลุ่มชน การกระทำต้องไม่ก่อให้ฝ่ายหนึ่ง ฝ่ายใด ได้รับประโยชน์มากกว่าอีกฝ่ายหนึ่ง และไม่ทำให้เกิดความไม่ยุติธรรมกับอีกฝ่ายหนึ่งอาทิ ไม่เลือกที่รักมักที่ชัง หรือเลือกปฏิบัติกับกลุ่มคนในองค์การหรือพนักงานคนใดคนหนึ่งเป็นพิเศษหรือหากมีใครทำผิดกฎเกณฑ์แล้วไม่ลงโทษหากเรามีการกระทำเช่นนี้ ถือว่าเป็นผู้บริหารที่ไม่มีจริยธรรมในการดำเนินธุรกิจ 
ความหมายของจริยธรรม
          "จริยธรรม" มาจากคำ 2 คำคือ จริย + ธรรม ซึ่งแปลตามศัพท์ คือ จริยะ แปลว่า ความประพฤติกิริยาที่ควรประพฤติ คำว่า ธรรม แปลว่า คุณความดี คำสั่งสอนในศาสนา หลักปฏิบัติในทางศาสนา ความจริง ความยุติธรรม ความถูกต้อง กฎเกณฑ์ เมื่อเอาคำ จริยะ มาต่อกับคำว่า ธรรม เป็นจริยธรรม แปลเอาความหมายว่า กฎเกณฑ์แห่งความประพฤติ หรือหลักความจริงที่เป็นแนวทางแห่งความประพฤติปฏิบัติ
          อลิสโตเติล กล่าวว่า พฤติกรรมที่เหมาะสม คือควรปฏิบัติตามกฎการเดินสายกลาง golden mean of moderation คือการไม่ทำอะไร สุดโต่ง เช่น ร่ำรวยเกินไป ยากจนเกินไป
ความหมายของจริยธรรมธุรกิจ
          จรรยาบรรณ หมายถึง มาตรฐานคุณค่าแห่งความดีงามของการกระทำหนึ่ง ๆ และหรือพฤติกรรมโดยรวม ธุรกิจ หมายถึง บุคคล นิติบุคคลหรือองค์กรใด ๆ ที่ดำเนินการผลิตสินค้าบริการเพื่อผลตอบแทนในการลงทุน (กำไร) จรรยาบรรณทางธุรกิจ หมายถึง มาตรฐานการผลิตสินค้าและการให้บริการเพื่อผลตอบแทนตามคุณค่าของการลงทุนโดยเป็นธรรมต่อทุกฝ่ายเจ้าของกิจการ ผู้บริหาร ผู้ร่วมงาน ผู้บริโภค ผู้รับบริการรัฐบาล สังคม ซึ่งมีความสัมพันธ์เชิงเศรษฐกิจร่วมกัน
องค์ประกอบสำคัญของจริยธรรม
          1. ความเฉลียวฉลาด (wisdom)
          2. ความกล้าหาญ (courage)
          3. ความรู้จักเพียงพอ (temperance)
          4. ความยุติธรรม (justice)
          5. ความมีสติ (conscience)
ประโยชน์ของจริยธรรมธุรกิจ
          1. จริยธรรมก่อให้เกิดความมุ่งมั่นของพนักงานในองค์กร
          2. จริยธรรมก่อให้เกิดภาพพจน์ที่ดีต่อองค์กร
          3. จริยธรรมก่อให้เกิดความมั่นใจของนักลงทุน
          4. จริยธรรมก่อให้เกิดความสงบสุขของสังคม
          5. จริยธรรมก่อให้เกิดความเจริญของประเทศชาติ
ความจำเป็นที่ต้องมีจริยธรรมธุรกิจ
          1. เพื่อสร้างความเป็นธรรมในการแข่งขัน
          2. เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต
          3. เพื่อสร้างความมั่นใจแก่ผู้บริโภค
          4. เพื่อรักษาสมดุลของสภาพแวดล้อม
ความแตกต่างระหว่างจริยธรรมกับกฎหมาย
          1. การบังคับใช้
          2. เหตุแห่งการเกิด
          3. บทลงโทษ
          4. การยกย่องสรรเสริญ
          5. เกณฑ์ที่ใช้ในการตัดสิน
โดยสามารถอธิบายได้ดังต่อไปนี้         1.การบังคับใช้
               - กฎหมายเป็นสิ่งที่ผู้นำตั้งขึ้นตามความเหมาะสม จะปฎิเสธว่าไม่รู้กฎหมายไม่ได้
               - จริยธรรมขึ้นอยู่กับบุคคล อยู่ที่จิตใต้สำนึก ไม่บังคับใช้อยู่ที่ความสมัครใจ
          2.เหตุแห่งการเกิด
               - กฎหมายเกิดอย่างเป็นกระบวนการเป็นทางการสามารถเปลี่ยนตามสภาวะสังคม
               - จริยธรรมเกิดจากพื้นฐานทางสังคมที่แท้จริงโดยอาศัยระยะเวลาในการยอมรับ
          3.บทลงโทษ
               - กฎหมายมีการกำหนดบทลงโทษไว้เป็นลายลักษณ์อักษรชัดเจน
               - จริยธรรมมีการกำหนดบทลงโทษแตกต่างกันไม่มีกำหนด
          4.การยกย่องสรรเสริญ
               - บุคคลที่สามารถปฏิบัติอยู่ภายใต้กฎหมายได้ถือเป็นพลเมืองดี
               - จริยธรรมต้องสั่งสมและต้องสร้างจากภายในออกสู่ภายนอก
          5.เกณฑ์การใช้ในการตัดสิน
               - หลักกฎหมายมีระบุชัดเจน เกณฑ์ที่ใช้การตัดสินมีผิด,ไม่ผิด
               - จริยธรรมมีความยืดหยุ่นมาก เกณฑ์ที่ใช้การตัดสินมีควรหรือไม่ควร

สิ่งสำคัญประการหนึ่งคือ สิ่งที่เป็นจริยธรรม (ethics) นั้นจะมีความแตกต่างจาก กฎหมาย (law) อยู่หลายประการ คือ
               - สิ่งที่เป็นจริยธรรม ก่อเกิดจากภายในตัวของผู้กระทำเอง เป็นสิ่งที่ควบคุมพฤติกรรมมนุษย์ในระดับสูง การลงโทษก็เป็นการควบคุม
               - ส่วนกฎหมายนั้น เป็นเรื่องของการบังคับให้ปฏิบัติ มิได้ก่อเกิดจากรากฐานภายในจิตใจ และกฎหมายอาจเป็นดั่งบรรทัดฐาน (norms) แต่ถึงอย่างไรก็ตาม ทั้งจริยธรรมและกฎหมาย ก็เป็นสิ่งที่ช่วยเหลือเกื้อกูลกันในการทำให้สังคมนั้นดีจากสังคม (social sanction)
จริยธรรมของผู้ประกอบธุรกิจ
          มูลนิธิเพื่อสถาบันการศึกษาวิชาการจัดการแห่งประเทศไทย (IMET) ได้เสนอหลักจริยธรรมของผู้ประกอบธุรกิจหรือนักธุรกิจไว้เพื่อใช้เป็นหลักเกณฑ์ในการประพฤติปฏิบัติได้แก่
จริยธรรมของนักธุรกิจต่อลูกค้า          - ขายสินค้าและบริการในราคาที่ยุติธรรม
          - สินค้าและบริการต้องมีคุณภาพ
          - ดูแลให้บริการแก่ลูกค้าทุกคนเท่าเทียมกัน
          - ละเว้นการกระทำใด ๆ ที่ทำให้ราคาสูงขึ้นโดยไม่มีเหตุผล
          - ปฏิบัติต่อลูกค้าอย่างมีน้ำใจ
จริยธรรมของนักธุรกิจต่อคู่แข่งขัน          - ละเว้นจากการกลั่นแกล้ง ให้ร้ายป้ายสี ข่มขู่หรือกีดกัน ไม่ว่าจะโดยทางตรงหรือทางอ้อม
          - ควรให้ความร่วมมือในการแข่งขัน เช่น การให้ข้อมูลความรู้ในด้านต่าง ๆ
จริยธรรมของนักธุรกิจต่อหน่วยงานราชการ          - การทำธุรกิจควรตรงไปตรงมา
          - ปฏิบัติตามข้อกำหนดของกฎหมายในการทำธุรกิจ
          - ละเว้นจากการติดสินบนเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานราชการ
          - ไม่สนับสนุนข้าราชการทำทุจริต
          - ละเว้นการให้ของขวัญหรือของกำนัลแก่ข้าราชการ
          - มีทัศนคติที่ดีและมีความเชื่อถือต่อหน่วยงานราชการ
          - ให้ความร่วมมือเป็นพลเมืองที่ดี
จริยธรรมของนักธุรกิจต่อพนักงาน          - ให้ค่าจ้างเหมาะสม
          - เอาใจใส่ต่อสวัสดิการและความปลอดภัยในการทำงาน
          - พัฒนาให้ความรู้เพิ่มความชำนาญ
          - ให้ความเป็นธรรม และโอกาสที่เท่าเทียมกัน
          - ศึกษานิสัยใจคอและความถนัดของพนักงาน
          - เคารพสิทธิส่วนบุคคลของพนักงาน
          - ให้ความเชื่อถือและไว้เนื้อเชื่อใจ
          - ให้คำแนะนำและเป็นที่ปรึกษา
          - สนับสนุนให้พนักงานเป็นคนดี
จริยธรรมของนักธุรกิจต่อสังคม          - ละเว้นการประกอบธุรกิจที่ทำให้สังคมเสื่อมลง
          - ไม่ทำลายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
          - เคารพสิทธิทางปัญญาของบุคคลอื่น
          - ให้ความร่วมมือกับชุมชนเพื่อสร้างสรรค์สังคม
          - ให้ความสนใจเรื่องการสร้างงานแก่คนในสังคม
จริยธรรมของนักธุรกิจต่อนักธุรกิจ          - มีความซื่อสัตย์สุจริตในการปฏิบัติงาน
          - รักษาและรับผิดชอบทรัพย์สินของนายจ้างให้ได้ประโยชน์อย่างเต็มที่
          - ระมัดระวังเรื่องการวางตัวในสังคม
          - หลีกเลี่ยงการขัดผลประโยชน์ของนายจ้าง
          - ละเว้นการทำงานให้ผู้อื่น
คุณสมบัติของผู้ประกอบธุรกิจ          - มีความรับผิดชอบในการทำงานไม่ว่าจะได้กำไรหรือขาดทุน
          - กล้าเสี่ยงพอสมควร
          - มีความมั่นใจในตนเอง
          - มั่นใจในการประเมินผลงานกิจการของตนเอง
          - กระตือรือร้นในการทำงาน
          - มองการณ์ไกล
          - มีความสามารถในการคัดคนเข้าทำงาน
          - คำนึงถึงความสำเร็จของงานมากกว่าคน
          - มีความสามารถในการแก้ไขปัญหาและการตัดสินใจ
          - มนุษยสัมพันธ์และบุคลิกภาพดี
          - มีความสามารถในการติดต่อสื่อสาร
          - มีความชำนาญในงานที่ทำ
          - มีความสามารถในการจัดการและการวางแผน
          - มีจริยธรรมหรือจรรยาบรรณต่อวิชาชีพของตนเอง
          จริยธรรมทางธุรกิจคือการแสดงออกถึงความรับผิดชอบต่อสังคมส่วนรวม พยายามสร้างสรรค์สิ่งต่าง ๆ เพื่อให้เกิดคุณประโยชน์ต่อผู้ที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจที่ดำเนินงานอยู่ไม่ว่าจะเป็นบุคคลใด เพื่อให้ธุรกิจมีความก้าวหน้าและเติบโตไปได้อย่างมั่นคง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น